วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การเลือกซื้ออาหาร

การเลือกซื้ออาหาร
หลักในการเลือกซื้ออาหาร
หลักการเลือกซื้ออาหารที่ถูกสุขลักษณะ
อาหาร หมายถึงอาหารสด อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง อาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม น้ำดื่ม น้ำแข็ง นมและผลิตภัณฑ์นม สารปรุงแต่งอาหาร ซึ่งมีหลักการในการเลือกซื้ออาหารที่ถูกสุขลักษณะ โดยคำนึงถึง หลัก 3 ป. คือ ปลอดภัย ประโยชน์ ประหยัด
ปลอดภัย คือ ต้องเลือกซื้ออาหารที่ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย ผลิตจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยมีลักษณะ สีสัน กลิ่น รสชาติ ตามธรรมชาติ ในกรณีที่เป็นอาหารที่มีการควบคุมตามกฎหมาย จะต้องมีเครื่องหมาย/สัญลักษณ์แสดงให้เห็น เช่น เครื่องหมาย อย. เครื่องหมาย มอก. ที่สำคัญคือ จะต้องเลือกซื้ออาหารที่ใหม่ สดโดยดูจากวันที่ผลิต หรือ วันหมดอายุบนฉลากบรรจุอาหารเป็นสำคัญ
ประโยชน์ คือ ต้องเลือกซื้ออาหารที่มีคุณค่า คุณประโยชน์ทางโภชนาการ การเลือกซื้ออาหารบริโภคต้องคำนึงถึงคุณค่าอาหารให้ครบถ้วน เหมาะสมกับความต้องการ
ประหยัด คือ ต้องเลือกซื้ออาหารตามฤดูกาลที่ผลิตในท้องถิ่น เพื่อจะได้อาหารที่มีคุณภาพดี ราคาถูก หาซื้อได้สะดวก
หลักการเลือกซื้ออาหารสด
1. การเลือกซื้อผัก
การเลือกซื้อผักสดบางชนิด
- เผือก มัน เลือกหัวที่มีน้ำหนักมาก เนื้อแน่น ผิวเรียบ ไม่มีตำหนิ
- หัวไชเท้า เลือกหัวที่ไม่งอ ขนาดกลางยังอ่อนๆ มีผิวเรียบ
- กะหล่ำปลี เลือกหัวแน่นๆ จะมีน้ำหนักมาก
- ผักที่เป็นฝัก เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา เลือกฝักอ่อนๆ สีเขียว เนื้อแน่นไม่ฝ่อ ฝักแก่จะมีสีขาวนวล
- ผักที่เป็นใบ เช่น ผักคะน้า ผักกาดหอม ฯลฯ เลือกต้นที่มีสีเขียวสด ไม่เหี่ยว ไม่มีรอยช้ำ ต้นใหญ่ ใบติดโคนแน่น
- มะเขือเปราะ มะเขือยาว เลือกขั้วติดแน่น สีสด น้ำหนักมาก ไม่เหี่ยว
- แตงร้าน เลือกลูกที่มีน้ำหนักมาก ลูกยาว สีเขียวอ่อน ไม่มีรอยช้ำ ผิวนวล
- แตงกวา แตงกวาผิวเขียว ดีกว่าผิวขาวนวล ผิวเขียวเนื้อหนาเมล็ดเล็ก เนื้อจะกรอบ กว่าผิวขาวนวล ซึ่งมีเนื้อน้อยและเหนียว
- มะนาว เลือกที่มีเปลือกบาง ผิวเรียบไม่เหี่ยว
- ฟักทอง เลือกลูกที่มีน้ำหนักมาก ผิวเปลือกขรุขระ เนื้อจะแน่น
2. การเลือกซื้อเนื้อสัตว์ (เนื้อ/หมู)
การเลือกซื้อเนื้อหมู ควรเลือกเนื้อหมูที่มีสีชมพู มันสีขาว หนังเกลี้ยง และขาว ถ้าเป็นหมูแช่เย็นค้างคืนเนื้อจะมีสีซีด สำหรับหมูสามชั้น ควรเลือกที่มีมันบาง มีเนื้อหลายชั้น หนังขาว ไม่มีพังผืด ระหว่างชั้นหนังหมูสะอาด เนื้อหมูสามารถนำมาปรุงอาหารหลายชนิด แต่ต้องเลือกเนื้อหมูให้เหมาะสมกับอาหารชนิดนั้นๆ ด้วย เช่น การทำแกงจืดชนิดต่างๆ ควรใช้หมูสามชั้นมาสับให้ละเอียดใช้ใส่แกงจืด หมูสับจะมีความนุ่ม รสชาติดี หรือถ้าจะทำหมูแดง ควรใช้เนื้อหมูสันใน เพราะจะมีความนุ่มมากกว่าการใช้เนื้อส่วนอื่นๆ
การเลือกซื้อเนื้อวัว ควรเลือกเนื้อที่มีสีแดง มันมีสีเหลือง ถ้าเนื้อไม่สดจะมีสีเขียวคล้ำๆ แต่ถ้าเป็นเนื้อควายจะต่างจากเนื้อวัว โดยสังเกตดูจากมันของเนื้อควายจะมีสีขาวและเนื้อหยาบมากกว่า การเลือกซื้อเนื้อวัวก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับอาหารชนิดนั้นๆ ด้วย เช่น ถ้าเป็นการผัด ควรต้องเลือกเนื้อสะโพก เพราะมีความนุ่มปานกลาง
3. การเลือกซื้อเนื้อสัตว์ (เป็ด/ไก่)

การเลือกซื้อเนื้อไก่ นอกจากจะดูความสดแล้ว ต้องดูว่าเป็นไก่แก่หรือไก่อ่อน เพราะจะเหมาะกับการปรุงอาหารแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นไก่ทั้งตัวก็จะมีข้อสังเกตคือ
- ไก่แก่ ปลายเล็บมน หนังใต้อุ้งเท้าจะหนาแข็ง เดือยจะยาว
- ไก่อ่อน เล็บจะแหลม หนังใต้อุ้งเท้าจะบาง เดือยจะสั้น ถ้าเป็นสาวจะไม่เห็นเดือยไก่ที่สมบูรณ์ เนื้ออกจะหนาและนุ่ม
การเลือกซื้อเนื้อเป็ด ควรเลือกซื้อเป็ดที่อ้วน และให้สังเกตดูว่าเป็ดแก่หรือเป็ดอ่อน สังเกตจากปากและตีนเป็ด ถ้าปากและตีนเป็นสีเหลือง แสดงว่าเป็นเป็ดอ่อน ถ้าเป็นเป็ดแต่ตีนจะมีสีดำ เนื้อจะเหนียวและมีกลิ่นสาบมาก
4. การเลือกซื้ออาหารสด ปลา/กุ้ง/หอย/ปู/ปลาหมึก
การเลือกซื้อปลา ควรจะเลือกปลาที่ตาใส เกล็ดและหนังไม่ขุ่น เนื้อแน่น เมื่อกดดูไม่บุ๋มตามรอยนิ้วมือ เนื้อไม่แข็งทื่อ ไม่มีกลิ่นเหม็น มีกลิ่นตามลักษณะของปลาแต่ละชนิด เหงือกมีสีสด
การเลือกซื้อกุ้ง ควรซื้อกุ้งที่มีหัวติดแน่งกับตัวไม่หลุดง่ายเนื้อแข็ง ตาใส เปลือกใส ตัวโต
การเลือกซื้อปู การเลือกซื้อปู โดยเฉพาะปูที่ยังไม่ตาย โดยเฉพาะปูทะเลดูน้ำหนักตัว และความแน่น โดยการกดดูตรงส่วนอก ถ้าเนื้อแน่นกดไม่บุ๋ม แสดงว่าเป็นปูใหม่
การเลือกซื้อหอย ควรเลือกซื้อหอยที่หุบปากแน่น เมื่อวางไว้จะดำ และหุบอย่างรวดเร็วเมื่อเอามือไปแตะไม่มีกลิ่นเหม็น สำหรับหอยที่แกะเปลือกแล้ว ต้องมีสีสด น้ำที่แช่ไม่มีเมือกและกลิ่นเหม็น

5. การเลือกซื้อผลไม้
การเลือกซื้อผลไม้บางชนิด
- ส้มเขียวหวาน เลือกที่มีเปลือกบาง มีสีเขียวเหลือง น้ำหนักพอสมควร เช่น 1 กิโลกรัม มีส้มอยู่ 7 ลูก
- สับปะรด เลือกตาใหญ่ เปลือกสีเขียวอมเหลือง
- มังคุด เลือกขนาดเล็ก ผิวเรียบ
- ลางสาด เลือกผลยาวรี ผิวสีเหลืองนวล จับดูเนื้อนุ่ม ใกล้ขั้วมีสีเหลืองออกน้ำตาล
- เงาะ เลือกเงาะสดไม่เหี่ยว
- ชมพู่ ผิวเรียบไม่มีแมลงกัดกิน ลูกใหญ่
- องุ่น เลือกที่เป็นพวง ลูกใหญ่

การเลือกซื้อเครื่องปรุงรสอาหาร
เครื่องปรุงรสอาหาร ได้แก่ สิ่งที่ใช้ในขบวนการปรุงรสอาหาร ให้มีรูปแบบรสชาติ กลิ่นที่ชวนรับประทาน เครื่องปรุงรสอาหารที่ใช้ประจำวัน ได้แก่ น้ำปลา น้ำส้มสายชู ซอส ผงชูรส ปัญหาของเครื่องปรุงรสอาหาร คือ ผู้ปรุง-ประกอบอาหาร ขาดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้กับอาหารทำให้ มีการนำสารเคมีที่ห้ามใช้กับอาหารมาใส่อาหารให้กรุบ กรอบ การใช้ ฟอร์มาลีนในอาหารทะเล ผักบางชนิดให้ดูสด สีสันดูใหม่คงเดิม เป็นต้น
ฉะนั้น เพื่อให้การใช้เครื่องปรุงรสอาหารเป็นไปอย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ จึงควรใช้ให้ถูกขนาด ตามชนิดเครื่องปรุงรสอาหาร และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น หลักการเลือกซื้อเครื่องปรุงรสอาหาร คือ สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน โดยสังเกตจากลักษณะทั่วไปของเครื่องปรุงรสอาหาร
- ภาชนะบรรจุต้องสะอาด ควรปิดสนิท ในกรณีเป็นภาชนะกระป๋อง ต้องอยู่ในสภาพดี เรียบทั้งฝาและก้น
- ฉลาก จะต้องแสดงชื่อเครื่องปรุงรสอาหาร น้ำหนักสุทธิ/ปริมาณสุทธิเป็นระบบเมตริก
- ส่วนประกอบ เครื่องหมายมาตรฐาน ( อย./หรือ มอก.)ชื่อ และที่ตั้ง สถานที่ผลิต วัน เวลาที่ผลิต/หมดอายุ
สภาพของอาหาร ต้องสะอาด ไม่มีตะกอน มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน หรือลักษณะตามธรรมชาติของเครื่องปรุงรสอาหาร เช่น น้ำปลา ซีอิ้ว ต้องใส ไม่มีตะกอน
ข้อควรจำที่สำคัญ คือ ห้ามซื้อเครื่องปรุงรสอาหารที่แบ่งขาย ไม่มีฉลาก และเครื่องหมายเลขทะเบียนตำรับอาหาร เพราะอาจจะเป็นอันตรายจากสารเคมีที่ใช้ในการปน ปลอมได้
การเลือกซื้ออาหารปรุงสำเร็จ
อาหารปรุงสำเร็จ ได้แก่ อาหารที่ผ่านการปรุง ประกอบ พร้อมที่จะนำมาเสิร์ฟและบริโภคได้ เช่น แกงเผ็ด แกงจืด ผัดผัก ปลาทอด ไก่ย่าง เป็นต้น มีหลักการเลือกซื้ออาหารปรุงสำเร็จ ที่สำคัญ คือ
สภาพทั่วไป ต้องสังเกตสีสัน กลิ่น รส ของอาหารให้เป็นไปตามปกติ ไม่มีสีดำคล้ำ หรือ ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เน่าเสีย หรือ ไม่มีสีสันที่เข้มจนผิดปกติ ลักษณะการเก็บอาหารปรุงสำเร็จ ระหว่างรอการจำหน่าย จะต้องเก็บในตู้ หรือภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดป้องกันสัตว์นำโรคได้ และต้องสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซ.ม. และต้องอยู่ห่างจากที่ล้างมือ/ล้างภาชนะอุปกรณ์อย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการกระเซ็นของน้ำสกปรกมาปนเปื้อน ในกรณีอาหารปรุงสำเร็จที่จำหน่ายตามแผงลอย ควรบรรจุในถุงพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารร้อน หรือบรรจุในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด
เลือกซื้ออาหารปรุงสำเร็จ จากสถานที่ปรุง ประกอบ จำหน่ายอาหารที่ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย เชื่อถือได้และสังเกตว่ามีการนำอาหารปรุงสำเร็จมาอุ่นให้ร้อนเป็นระยะทุก 2 ชั่วโมง สังเกตลักษณะการเตอาหารปรุงสำเร็จเพื่อจำหน่าย จะต้องเสิร์ฟอย่างถูกสุขลักษณะ มีทัพพี/ที่หยิบจับอาหารแยกเฉพาะในแต่ละประเภทอาหาร
ข้อสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ เมื่อเลือกซื้ออาหารปรุงสำเร็จจากสถานที่ปรุง ประกอบ จำหน่ายอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ก่อนบริโภคควรนำมาอุ่นให้ร้อนก่อน และในกรณีที่จะเก็บไว้นาน ควรเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อโรค และป้องกันการเน่าเสียของอาหารปรุงสำเร็จ
การเลือกซื้ออาหารพร้อมปรุง
อาหารพร้อมปรุง หมายถึง อาหารสดที่ได้จัดเตรียมส่วนประกอบต่างๆ นำมาบรรจุในภาชนะเดียวกัน เพื่อจะได้จำหน่ายให้กับผู้บริโภค สำหรับนำไปปรุง ประกอบเป็นอาหารชนิดหนึ่ง เช่น ชุดอาหารพร้อมปรุงสำหรับแกงเขียวหวานไก่ , อาหารพร้อมปรุงชุดปลากะพงสามรสเป็นต้น ปัญหาของอาหารพร้อมปรุงที่พบเป็นประจำ คือ ปัญหาอาหารพร้อมปรุงที่ไม่สด หรือ ผู้บริโภคไม่สามารถรู้กำหนดวันหมดอายุ/วันผลิตอาหารพร้อมปรุง ประเภทนั้น
ฉะนั้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับอาหารพร้อมปรุงที่สะอาด ปลอดภัย สด ใหม่ และคุ้มค่า กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดอาหารพร้อมปรุงเป็นอาหารที่มีฉลาก การเลือกซื้ออาหารพร้อมปรุงจึงต้องสังเกต
ฉลากอาหารพร้อมปรุง ต้องมีชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วัน และเดือนที่ผลิต รวมทั้งคำแนะนำในการเก็บรักษาอาหารพร้อมปรุง
ภาชนะบรรจุ จะต้องสะอาด ได้มาตรฐาน สามารถปกปิดอาหารพร้อมปรุง ป้องกันการปนเปื้อนได้
การวางจำหน่าย อาหารพร้อมปรุง ตามห้างสรรพสินค้า จะต้องวางจำหน่ายในตู้แช่เย็น อุณหภูมิต่ำ กว่า 7 องศาเซลเซียส สังเกตได้จากเครื่องวัดอุณหภูมิที่ตู้แช่เย็นตามห้างสรรพสินค้า
สังเกตวัน เดือนที่ผลิตบนฉลาก ควรเลือกซื้อของที่ผลิตใหม่ ไม่ควรเลือกซื้ออาหารพร้อมปรุงที่ผลิตเกิน 3 วัน เพราะอาจจะเกิดการเน่าเสียได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม เมื่อซื้ออาหารพร้อมปรุงมาเพื่อปรุง ประกอบ เป็นอาหาร ควรจะต้องล้างทำความสะอาดอีกครั้งก่อนนำมาปรุง และระหว่างรอการปรุง ประกอบควรเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อลดอัตราการเน่าเสียและการเพิ่มจำนวนของเชื้อโรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น